โรคไตเรื้อรัง ภัยเงียบที่ควรระวัง
ในปัจจุบัน หนึ่งในโรคเรื้อรังที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิตก็คือ “โรคไตเรื้อรัง” 😰ไตเป็นอวัยวะที่ใช้กรองเลือด เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย โรคไตเรื้อรังจึงส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ต้องรักษาโดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งต้องทำเป็นประจำไม่ว่าจะเป็นทางหน้าท้อง ทางหลอดเลือด หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ทั้งยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิต หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 😭
โรคนี้เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่มีอาการใดๆ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคไตเรื้อรังก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว
ซึ่งไม่มีการรักษาใดที่ทำให้โรคหายขาดได้แล้ว
ต้องอาศัยการรักษาแบบประคับประคองไม่ให้แย่ลงไปกว่าเดิม หรือการบำบัดทดแทนไต
หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรัง รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง ก็คือ
“#ปริมาณเกลือโซเดียมในอาหาร” บางคนเข้าใจว่าเกลือโซเดียมมีอยู่ในอาหารรสเค็มเท่านั้น จริงๆ แล้ว นอกจากอาหารรสเค็มและเครื่องปรุงรส เช่น เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย กะปิ ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง แม้อาจจะไม่ได้มีรสเค็ม เช่น
อาหารหมักดองทุกชนิด
แฮม
ไส้กรอก
เบคอน
เนยและชีส
ปลาส้ม
แหนม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
อาหารกระป๋อง
ซีเรียล
เบเกอรี่ทุกชนิด (เนื่องจากเกลือโซเดียมมีอยู่ในผงฟู ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเบเกอรี่)
ขนมขบเคี้ยวทุกชนิด
ผงชูรส
และอาหารรสจัด (บางครั้งรสเค็มอาจถูกรสชาติอื่นๆ กลบ แต่จริงๆ แล้วมีปริมาณเกลือโซเดียมมากเช่นกัน) เป็นต้น
โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดปริมาณเกลือโซเดียมที่ควรบริโภคต่อวัน เทียบเท่าไม่เกิน 5 กรัมของเกลือแกง หรือเพียง 1 ช้อนชาเท่านั้น
ซึ่งในปริมาณนี้ต้องรวมปริมาณเกลือโซเดียมที่แฝงอยู่ในอาหารชนิดต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วด้วย
ค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลงทีละน้อยๆ จนลดได้ตามปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี และควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น
เบาหวาน
ภาวะความดันโลหิตสูง
ไขมันในโลหิตสูง
โรคอ้วน
ร่วมกันให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันตนเองจากโรคไตเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด